ทฤษฎีการเรียนรู้

ทฤษฎีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน

ในการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ต่างดำเนินการโดยตั้งอยู่บนแนวทางของทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ หลายทฤษฎีอาจนำออกไปหลังจากที่มีทฤษฎีอื่นที่ชัดเจนมากกว่าเข้ามาแทนที่ แต่หลายทฤษฎีก็ยังคงไว้ซึ่งหลักความจริงและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนทางการศึกษามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ช่วยให้การศึกษาของโลกพัฒนาไปอย่างก้าวหน้า

ทฤษฎีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน

1. ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences)
ทฤษฎีของพหุปัญญา เป็นทฤษฎีที่ถูกพัฒนาขึ้น โดย ดร. โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นมีความสามารถทางปัญญาที่แตกต่างกันหลายด้าน ซึ่งแต่ละด้านต่างมีรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งจากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า มีการค้นพบความสามารถทางปัญญาตามทฤษฎีพหุปัญญาถึง 9 ด้าน อันได้แก่ ด้านภาษา ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านปฏิสัมพันธ์ ด้านความเข้าใจตนเอง ด้านธรรมชาติ และด้านการคิดใคร่ครวญ โดยแต่ละด้านล้วนแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่หลากหลายในการประมวณผลความรู้ของแต่ละบุคคล

ทฤษฎีพหุปัญญาของ ดร. โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ นี้ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในโลกของการเรียนการสอน เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้เรียนแต่ละคนล้วนมีรูปแบบของการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับตัวเองแตกต่างกันไป ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องออกแบบหลักสูตรและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความหลากหลายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2. ทฤษฎีอนุกรมวิธานของบลูม (Bloom’s Taxonomy)
ทฤษฎีอนุกรมวิธานของบลูม (Bloom’s Taxonomy) ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 โดย เบนจามิน บลูม นักการศึกษาชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งมองว่าการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน โดยเริ่มจากขั้นแรกไปสู่ขั้นสุดท้ายที่มีความยากมากขึ้น ซึ่งบลูมได้จำแนกจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ออกเป็น 3 ด้าน คือ

  • ด้านพุทธพิสัย (Cognitive Domain) ซึ่งมีระดับการเรียนรู้ 6 ระดับ คือ จดจำ เข้าใจ ประยุกต์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และ ประเมินค่า ตามลำดับ
  • ด้านจิตพิสัย (Psychomotor Domain) ซึ่งมีระดับการแสดงออก 5 ระดับ คือ รับรู้ ตอบสนอง เห็นคุณค่า สร้างแนวคิด และสร้างอุปนิสัย ตามลำดับ
  • ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) มีระดับพฤติกรรม 5 ระดับ คือ รับรู้ ทำตาม ทำได้ถูกต้อง ทำอย่างต่อเนื่อง และเป็นธรรมชาติ ตามลำดับ

อนุกรมวิธานของบลูม นั้น นับเป็นทฤษฎีสำคัญที่ช่วยให้ครูกำหนดเป้าหมายและจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ที่ชัดเจนสำหรับผู้เรียนและเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดทำแผนการสอน

3. บริเวณความใกล้เคียงพัฒนาการทางปัญญาและการเสริมต่อการเรียนรู้ ของ วีกอตสกี The Zone of proximal development – ZPD and Scaffolding
บริเวณความใกล้เคียงพัฒนาการทางปัญญา (The Zone of proximal development – ZPD) เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดย เลฟ วีกอตสกี (Lev Vygotsky) นักวิชาการที่อยู่ในยุคเดียวกับเฟียเจย์ ซึ่งได้กล่าวถึง ขอบเขตระหว่างสิ่งที่ผู้เรียนทำได้อย่างอิสระ ซึ่งมาจากการสังเกตและประสบการณ์ที่ผู้เรียนมี กับสิ่งที่ผู้เรียนทำได้เมื่อได้รับคำแนะนำ โดยผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีจะมี ZPD ที่แตกต่างกัน บางคนสามารถเรียนรู้ได้เอง ในขณะที่บางคนจำเป็นต้องได้รับการชี้แนะ ซึ่งการชี้แนะนักเรียนนั้นเป็นการเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding) ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือเด็กในการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการในตัวผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จ

แนวคิดของวีกอตสกี ในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคน ซึ่งวีกอตสกี ได้แนะนำว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครูที่จะสนับสนุนนักเรียนของพวกเขาคือการทำงานร่วมกับพวกเขาเพื่อให้สามารถสังเกตและพิจารณาแนวทางในการสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม

ทฤษฎีการเรียนรู้

4. โครงสร้างความรู้และปัญญานิยม Schema and Constructivism
ทฤษฎีโครงสร้างความรู้และปัญญานิยมของฌอง เพียเจต์ (Jean William Fritz Piaget) ได้อธิบายถึงการแนะนำความรู้ใหม่ด้วยความรู้ที่มีอยู่เดิมของนักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าใจในหัวข้อใหม่ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทฤษฎีนี้แนะนำให้ครูผู้สอนควรพิจารณาสิ่งที่นักเรียนรู้มาก่อนที่จะเริ่มบทเรียนใหม่ ปัจจุบันทฤษฎีนี้กลายเป็นกิจวัตรโดยทั่วไปของห้องเรียนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ทฤษฎีปัญญานิยม ของเพียเจต์ ยังอธิบายว่า มนุษย์สร้างความหมายต่าง ๆ ผ่านการกระทำและประสบการณ์ ซึ่งทฤษฎีนี้มีบทบาทอย่างมากกับห้องเรียนในปัจจุบันที่เน้นการลงมือปฏิบัติในลักษณะของ Active Learning

5. ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม
ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมของสกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้อธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภายนอก สำหรับในห้องเรียน พฤติกรรมนิยมเป็นทฤษฎีที่ว่าการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งจะดีขึ้นเมื่อได้รับการเสริมแรงเชิงบวก เช่น การให้รางวัลและคำชมเชยต่าง ๆ และสามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของผู้เรียนได้จากการเสริมแรงทางลบและการลงโทษ ทฤษฎีพฤติกรรมนิยมของสกินเนอร์นี้ กลายเป็นเทคนิคพื้นฐานของครูผู้สอนในการปรับพฤติกรรมให้กับผู้เรียนและช่วยปรับปรุงผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดีขึ้น ถ้าใช้เทคนิคนี้อย่างเหมาะสม

6. หลักสูตรเกลียวสว่าน
หลักสูตรเกลียวสว่านของเจอโรม บรูเนอร์ (Jerome Bruner) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา มีความหมายว่า เป็นหลักสูตรที่มีการจัดทำเนื้อหาหรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น แต่จะมีระดับของความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้น ๆ จะสอนในส่วนที่ง่าย และค่อยๆ เพิ่มความยากตามระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งบรูเนอร์ เชื่อว่าเด็ก ๆ สามารถเข้าใจหัวข้อและปัญหาที่ท้าทายได้ โดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องได้รับการนำเสนอในลักษณะที่เหมาะสมกับวัย นอกจากนี้บรูเนอร์ ยังแนะนำว่าครูผู้สอนควรกลับมาทบทวนหัวข้อเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสม ซึ่งแนวคิดนี้นำมาสู่การออกแบบหลักสูตรร่วมกันของสถานศึกษา ร่วมถึงแผนการสอนรายสัปดาห์และรายปีอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่ได้จากทฤษฎีทางการศึกษาต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาลงลึกในแต่ละทฤษฎี อันจะช่วยให้เข้าใจและนำมาปรับใช้กับการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ takodaioh.com

UFA Slot

Releated